ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ทำสวนมะม่วงมักจะไม่กล้าลงทุน เมื่อเกิดปัญหาการขาดทุนจะเกิดสภาวะ "กล้าๆ กลัวๆ " ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ผลตามมาเกษตรกรจะขาดการบำรุงรักษา มีการใส่ปุ๋ยและฉีดพ่นยาไม่เต็มที่ ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของต้นมะม่วงโดยตรง ลุงสงวนบอกว่าการทำการเกษตรจะต้องมีการลงทุนดูแลต้นมะม่วงให้สมบูรณ์ ดังนี้
ปุ๋ยคอก มีความสำคัญ
ลุงสงวน บอกว่า เกษตรกรเจ้าของสวนมะม่วงจะต้องใส่ปุ๋ยคอกเป็นประจำทุกปี จะใส่ช่วงต้นฤดูฝนหรือใส่หลังจากการตัดแต่งกิ่งเสร็จก็ได้ เนื่องจากปุ๋ยคอกจะถูกนำไปใช้ในระยะยาว เป็นพื้นฐานของความสมบูรณ์ของต้นมะม่วง ปุ๋ยคอกใช้ได้ทุกประเภท แต่ต้องพึงระวัง ก่อนนำมาใช้จะต้องผ่านการหมักให้เป็น "ปุ๋ยคอกเก่า " เสียก่อน สำหรับเกษตรกรหลายคนมักจะกังวลว่าใส่ปุ๋ยคอกไปแล้วมักจะเกิดปัญหาเชื้อราระบาดทำลายมะม่วงได้ง่าย อย่าไปกังวลมากเกินไป ขึ้นกับการบำรุงดูแลรักษามากกว่า
ปัญหาการปลูกมะม่วงในพื้นที่เช่า
ปัญหาในเรื่องพื้นที่เช่า (มีต้นมะม่วงปลูกอยู่แล้ว) ดินมักจะขาดความอุดมสมบูรณ์ ผู้เช่าไม่อยากจะใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีอย่างเต็มที่ เพราะคิดว่าไม่ใช่ที่ดินของตนเอง กลัวว่าผลประโยชน์จะตกไปอยู่กับเจ้าของเดิม ทำให้มีผลต่อการผลิตมะม่วงโดยตรง ลุงสงวนแนะนำให้ผู้เช่าและเจ้าของที่ดินตกลงสัญญาเช่าให้มีความแน่นอนว่าจะให้เช่าเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่
การทำผิวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
ลุงสงวน บอกว่า ผิวมะม่วงส่วนใหญ่จะเสียหายเพราะเกิดจากการทำลายของโรคและแมลง โดยเฉพาะช่วงที่มีความสำคัญคือ ระยะดอกมะม่วงโรย แมลงศัตรูที่สำคัญคือ "เพลี้ยไฟ" ในระยะนี้เกษตรกรจะต้องเฝ้าดูการทำลายทุกวัน เผลอไม่ได้ เพลี้ยไฟจะเข้าทำลายในระยะดอกมะม่วงโรยมากที่สุด การป้องกันและกำจัดแนะนำให้ฉีดพ่น โปรวาโด อัตรา 2-3 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออาจจะฉีดสลับด้วยสาร "มาลาไทออน" หรือ " เมทโธมิล" (เช่น แบนโจ) ข้อดีของสารป้องกันและกำจัด 2 ชนิดหลังดังกล่าว ลุงสงวนบอกว่าราคาไม่แพงนัก นอกจากจะควบคุมเพลี้ยไฟได้แล้วยังควบคุมหนอนได้ด้วย ที่สำคัญสารดังกล่าวญี่ปุ่นไม่ห้ามใช้และที่ผ่านมาเมื่อตรวจสอบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีปัญหาเพราะสลายตัวเร็ว
สำหรับโรคที่ลุงสงวนคิดว่า มีความสำคัญกลับไม่ใช่โรคแอนแทรกโนส แต่เป็นโรค "ราแป้ง" ที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว การระบาดของราแป้งลงช่อมะม่วงจะรวดเร็วมาก มีผลทำให้ไม่มีการติดผลเลย ปัจจุบันยังไม่พบสารป้องกันโรคพืชที่โดดเด่นเป็นพิเศษในการป้องกันและกำจัดโรคราแป้ง แนะนำให้ใช้สารซีสเทน-อี ฉีดพ่นสลับกับสารเบนโนมิล เช่น เมเจอร์เบน เป็นต้น
การตัดแต่งผลมะม่วงก่อนห่อ
ลุงสงวน บอกว่า ต้นมะม่วงจะต้องมีการควบคุมทรงพุ่มให้เตี้ยเพื่อปฏิบัติงานได้ง่าย และมีการคัดเลือกจำนวนผลมะม่วงต่อต้นก่อนที่จะห่อ ตัวอย่าง มะม่วง 100 ผล ที่ห่อจะคัดเลือกได้อย่างน้อย 80 ผล หรือ 80% ถ้าติดผลช่อละ 3 ผล ควรคัดเลือกห่อเพียง 1 ผล เท่านั้น เพื่อผลจะได้โตและมีน้ำหนักเท่าๆ กัน ข้อควรระวังในการห่อผลมะม่วงอีกประการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ก่อนที่จะห่อผลมะม่วงจะต้องเด็ดหรือตัดส่วนปลายก้านช่อดอกหรือที่ชาวสวนเรียกว่า "หนวดมะม่วง" ถ้าปล่อยทิ้งไว้ส่วนของหนวดจะทำให้ผิวมะม่วงเกิดตำหนิขึ้นได้ (เมื่ออยู่ในถุงห่อจะเกิดการเสียดสีภายในถุง)
การเลือกใช้ถุงห่อผลมะม่วง
ความจริงการห่อผลมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จะช่วยรักษาผิวของผลมะม่วงได้ดีและสวยไร้ริ้วรอย ป้องกันการเข้าทำลายของโรคและแมลงได้ โดยเฉพาะแมลงวันทอง และยังช่วยลดปริมาณของสารเคมีที่อาจจะฉีดพ่นถูกผลมะม่วงได้อีกด้วย ในการห่อผลมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ลุงสงวนแนะนำให้เลือกห่อตั้งแต่ผลมีขนาด ประมาณ 2 นิ้วครึ่ง (ใหญ่กว่าไข่ไก่เล็กน้อย) โดยจะห่อนานประมาณ 40 วัน จึงจะเก็บเกี่ยวได้ หรือถ้าห่อขนาดผล 3 นิ้ว จะห่อนานประมาณ 1 เดือน ซึ่งในขณะนั้นความแก่ของผลมะม่วงจะอยู่ที่ 75-80% แต่ถ้าห่อผลนานเกิน 45 วัน ขึ้นไป ผิวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองอ่อนออกขาวหรือที่ชาวสวนเรียกว่า "มะม่วงเผือก"
แต่เดิมการห่อผลมะม่วงจะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์มักจะเกิดปัญหาว่าหมึกพิมพ์จากกระดาษหนังสือพิมพ์ติดเลอะเทอะบนผิวมะม่วง ปัจจุบันมีทางเลือกในการใช้ถุงห่อแบบใหม่ คือการใช้ถุงคาร์บอนหรือมีการจำหน่ายอยู่หลายเกรด ราคาถูกแพงขึ้นอยู่กับคุณภาพของถุงห่อด้วย อย่างกรณีของถุงคาร์บอนห่อผลมะม่วงของ "ชุนฟง" ถึงแม้จะมีราคาสูงกว่ายี่ห้ออื่นบ้าง แต่ถุงทุกใบได้มาตรฐานและผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ลุงสงวนยังแนะนำว่าในการใช้ถุงคาร์บอนควรใช้เพียง 2 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว หลังจากนั้นให้เปลี่ยนถุงใหม่
"การเก็บเกี่ยวผลผลิต" ขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญยิ่ง
ลุงสงวน บอกว่า ขั้นตอนในการเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นขั้นตอนที่จะมีการเอาใจใส่ดูแลที่ดีไม่แพ้ช่วงที่ดูแลรักษาบนต้น เจ้าของสวนมะม่วงจะต้องฝึกฝนและปลูกฝังการทำงานในเรื่องของการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างระมัดระวังและมีความประณีต ห้ามไม่ให้เกิดการกระแทกหรือช้ำเพียงจุดเดียว
ขั้นตอนในการเก็บเกี่ยวมะม่วงออกจากแปลงปลูกนั้น ถ้าเป็นจุดที่ใช้มือเอื้อมเด็ดถึง ก็ให้เด็ดผลอย่าให้ขั้วหักเป็นอันขาด ในการรับซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก ถ้าผลมะม่วงไม่มีขั้วผลติด ตลาดจะไม่รับซื้อ เมื่อขั้วมะม่วงหักยางมะม่วงจะไหลโดนผิวมะม่วงเป็นลายจะตกเกรดทันที ในจุดที่ผลมะม่วงอยู่สูงใช้มือเด็ดไม่ได้ให้ใช้ตะกร้อเก็บเกี่ยว ตะกร้อที่ดีจะต้องมีใบมีดติดเพื่อเกี่ยวขั้วมะม่วงให้ขาดได้เพียงครั้งเดียว การเก็บด้วยตะกร้อควรจะเก็บทีละผล
หลังจากเก็บผลมะม่วงลงมาจากต้นแล้วจะต้องนำไปใส่เข่งหรือตะกร้าที่วางอยู่ใต้ต้นมะม่วง ไม่ควรวางลงกับดิน ใส่ตะกร้าให้เต็มพอประมาณอย่าวางทับกันแน่นเกินไป เคลื่อนย้ายไปแกะถุงคาร์บอนในโรงคัดแยก ไม่แนะนำให้แกะถุงในแปลงปลูก (ถุงคาร์บอนมีส่วนช่วยลดการเสียดสีได้อีกทางหนึ่ง)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น